Latvia, Republic of

สาธารณรัฐลัตเวีย

​​    สาธารณรัฐลัตเวียเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศในกลุ่มรัฐบอลติก(Baltic States)* ซึ่งประกอบด้วยสาธารณรัฐเอสโตเนีย (Republic of Estonia) สาธารณรัฐลิทัวเนีย (Republic of Lithuania) และลัตเวีย เป็นดินแดนที่เคยอยู่ใต้การปกครองของหลายชาติคือเยอรมนี สวีเดน โปแลนด์ และรัสเซีย ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เมื่อรัสเซียเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ลัตเวียจึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สหภาพโซเวียตใช้กำลังผนวกลัตเวียเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศใน ค.ศ. ๑๙๔๐ และเรียก ชื่อใหม่ว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลัตเวีย (Latvian Soviet Socialist Republic) แต่เมื่อเยอรมนีประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียต เยอรมนีได้เข้ายึดครองลัตเวียใน ค.ศ. ๑๙๔๑ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงสหภาพโซเวียตเข้าปกครองลัตเวียอีกครั้งหนึ่งจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๐ เมื่อประธานาธิบดีมีฮาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachev ค.ศ. ๑๙๘๕-๑๙๙๑)* แห่งสหภาพโซเวียตเปิดโอกาสให้ประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นรัฐบริวารของโซเวียต (Soviet Bloc) ปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ลัตเวียจึงเคลื่อนไหวแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตและได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑

     ลัตเวียตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป ทิศเหนือติดกับเอสโตเนียและอ่าวริกา (Riga) ทิศตะวันออกติดกับสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) และทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับสาธารณรัฐเบลารุส (Republic of Belarus) ทิศใต้ติดกับลิทัวเนียและทิศตะวันตกติดกับทะเลบอลติก ทำเลที่ตั้งของประเทศอันเหมาะสมและการมีเมืองท่าที่น้ำไม่จับตัวแข็งในฤดูหนาวทำให้ลัตเวียเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างยุโรปกับรัสเซีย ลัตเวียมีเนื้อที่ ๖๔,๕๘๙ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ของประเทศทางภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเป็นที่ราบสูง และทางตอนกลางเป็นที่ราบพื้นที่ร้อยละ ๔๐ เป็นป่า ทุ่งหญ้าและบึงหนอง ลัตเวียมีแม่น้ำลำธาร ๗๗๗ สายส่วนใหญ่ยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แม่น้ำสายสำคัญและใหญ่ที่สุดคือแม่น้ำเดากาวา (Daugava)

ไหลผ่านหลายประเทศและมีความยาวรวมกันทั้งสิ้น ๑,๐๒๐ กิโลเมตร มีต้นน้ำอยู่ที่ รัสเซียกับยูเครนโดยไหลผ่านลัตเวียยาว ๓๕๗ กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีทะเลสาบเล็ก ๆ กว่า ๒,๕๐๐ แห่งซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ประมาณร้อยละ ๑.๖ ที่สูง (upland) ทางตะวันออกมีภูมิทัศน์สวยงามที่ได้ชื่อว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของลัตเวีย ภูมิอากาศทั่วไปชื้นและท้องฟ้ามักปกคลุมด้วยเมฆซึ่งทำให้มีแดดเพียง ๓๐-๔๐ วันต่อปีเท่านั้น ลัตเวียมีประชากร ๒,๒๔๕,๔๒๓ คน ( ค.ศ. ๒๐๐๘) เป็นประชาชนเชื้อสายลัตเวียร้อยละ ๕๗.๗ รัสเซียร้อยละ ๒๙.๖ เบโลรัสเซียร้อยละ ๔.๑ ยูเครนร้อยละ ๒.๗ และโปลร้อยละ ๒.๕ ที่เหลือเป็นชนชาติกลุ่มน้อยอื่น ๆ คือ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ยิปซี และยิวประชากรส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายลัตเวียลูเทอร์รัน (Latvian Lutheran) โรมันคาทอลิก และรัสเซียออร์ทอดอกซ์ (Russian Orthodox) ภาษาราชการแต่เดิมคือภาษารัสเซีย แต่ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ เปลี่ยนมาใช้ภาษาลัตเวียซึ่งเป็นภาษาตระกูลนอสเตรติก (Nostratic Macro-Family) ภาษาอังกฤษก็เป็นที่นิยมพูดกัน และชาวลัตเวียจะพูดได้ ๒ ภาษา เมืองหลวงของประเทศคือริกา (Riga) ซึ่งพ่อค้าชาวเยอรมันจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๒๐๑ เป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมของประเทศ และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศ สาธารณรัฐบอลติก เดากัฟพิลส์ (Daugavpils) เป็นเมืองสำคัญอันดับ ๒ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซียเมืองสำคัญอื่น ๆ คือ ยูร์มาลา (Jürmala) เป็นเมืองพักผ่อนตากอากาศที่สำคัญตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่ปัจจุบันทะเลเน่าเสีย จนไม่สามารถว่ายน้ำได้เลียปายา (Liepāja) เป็นเมืองท่าและศูนย์กลางอุตสาหกรรม เงินสกุลของประเทศเรียกว่าแลต (lat)
     ลัตเวียแต่เดิมเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองซึ่งไม่ทราบประวัติความเป็นมา แต่ประมาณ ๓,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช บรรพบุรุษของพวกฟินน์ (Finns) เข้ามาตั้งรกราก และอีก ๑,๐๐๐ ปีต่อมาชนเผ่าบอลติกเชื้อสายอินโดยูโรเปียนก็เข้ามาตั้งถิ่นฐานซึ่งแบ่งเป็น ๔ เผ่าใหญ่อาศัยกระจัดกระจายกันใน ๔ ภูมิภาค คือ เผ่าคูร์ซี (Kursi) ในภูมิภาคคูร์เซเม (Kurzeme) หรือคูร์ลันด์ (Courland) เผ่าลิฟ (Livs) ในภูมิภาคลัตเกเล (Latgale) เผ่าเซลี (Seli) ในภูมิภาควิดเซเม (Vidzeme) และเผ่าเซมกาลี (Zemgali) ในภูมิภาคเซมกาเล (Zemgale) พวกลิฟได้ติดต่อค้าขายกับพวกตะวันตกและถูกเรียกชื่อว่าลิโวเนีย (Livonians) ซึ่งในเวลาต่อมาดินแดนในภูมิภาคที่พวกลิฟอาศัยและบริเวณใกล้เคียงมีชื่อเรียกว่าลัตเวียใน ค.ศ. ๑๐๕๔ ชนเผ่าเยอรมันที่รอดชีวิตจาก

เรืออัปปางในแม่น้ำเดากาวาได้มาอาศัยอยู่ในดินแดนของพวกลิฟ และในเวลาอันสั้นก็มีอิทธิพลเหนือชนพื้นเมือง ใน ค.ศ. ๑๒๐๑ บิชอปอัลเบรชท์ ฟอน บุกซ์เฮอร์เดิน (Albrecht von Buxhoerden) เป็นผู้นำกลุ่มขุนนางเยอรมัน (Knight of the Sword) จัดตั้งเมืองท่าริกาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์เผยแพร่ศาสนา การค้าและการขยายอำนาจทางทหาร ริกาได้พัฒนาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตฮันซา (Hanseatic League) ของกลุ่มพ่อค้าเยอรมันตอนเหนือใน ค.ศ. ๑๒๘๕ ก็กลายเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางบอลติกเหนือที่ติดต่อกับยุโรป ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ พวกเยอรมันก็ขยายอำนาจเข้ายึดครองดินแดนลิโวเนียหรือลัตเวียได้ทั้งหมด และใช้กำลังบังคับให้ชาวลัตเวียหันมานับถือคริสต์ศาสนาตลอดจนจัดตั้งระบบทาสติดที่ดินขึ้นใน ค.ศ. ๑๔๕๘ ชาวลัตเวียส่วนใหญ่ยกเว้นพวกที่อาศัยอยู่ในเมืองจึงกลายเป็นทาสติดที่ดิน
     ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๘ ลัตเวียถูกประเทศเพื่อนบ้านคือโปแลนด์ สวีเดน และรัสเซียผลัดเปลี่ยนกันเข้ายึดครองและแบ่งแยกดินแดน ในสงครามลิโวเนีย (Livonian Wars ค.ศ. ๑๕๕๘-๑๕๘๓) ซึ่งเป็นสงครามยืดเยื้อระหว่างพวกเยอรมันทิวทอนิกกับรัสเซียในรัชสมัยซาร์อีวานที่ ๔ หรืออีวานผู้โหดร้าย (Ivan IV the Terrible ค.ศ. ๑๕๔๗-๑๕๘๔) ลัตเวียหันไปพึ่งโปแลนด์และดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ใต้อำนาจของโปแลนด์ แต่เมื่อพระเจ้ากุสตาวุสที่ ๒ อดอลฟุส (Gustavus II Adolphus ค.ศ. ๑๖๑๑-๑๖๓๒) แห่งสวีเดนก่อสงครามกับโปแลนด์ใน ค.ศ. ๑๖๒๑ ลัตเวียก็ถูกสวีเดนยึดครองยกเว้นดินแดนทางตอนใต้ซึ่งยังคงอยู่ใต้การปกครองของโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม เมื่อซาร์ปีเตอร์มหาราช (Peter the Great ค.ศ. ๑๖๘๒-๑๗๒๕) แห่งรัสเซียพยายามหาเส้นทางออกทะเลทางด้านทะเลบอลติก พระองค์ทรงทำสงครามกับพระเจ้าชาลส์ที่ ๑๒ (Charles XII ค.ศ. ๑๖๙๗-๑๗๑๘) แห่งสวีเดนในสงครามทะเลเหนืออันยิ่งใหญ่ (Great Northern War ค.ศ. ๑๗๐๐-๑๗๒๑) สงครามสิ้นสุดด้วยความปราชัยของสวีเดนซึ่งต้องยอมลงนามในสนธิสัญญานูสตัด (Treaty of Nystad) ใน ค.ศ. ๑๗๒๑ โดยสวีเดนต้องยกลัตเวีย เอสโตเนีย และอินเกรีย (Ingria) ให้แก่รัสเซีย ซาร์ปีเตอร์มหาราชจึงทรงได้ "หน้าต่าง" ออกทะเลสมพระทัยและทรงโปรดให้สร้างเมืองหลวงใหม่บนฝั่งแม่น้ำนีวา (Neva) ในเขตอินเกรียคือกรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก (St. Petersburg)
     ในครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ซารินาแคเทอรีนที่ ๒ หรือแคเทอรีนมหาราช (Catherine the Great ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖)* แห่งรัสเซียทรงสานนโยบายด้านต่างประเทศตามแนวทางของซาร์ปีเตอร์ด้วยการขยายพรมแดนไปทางทิศตะวันตกและทิศใต้เข้าไปในดินแดนของโปแลนด์และจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกี พระนางทรงร่วมมือกับปรัสเซียและออสเตรียในการแบ่งแยกดินแดนของโปแลนด์ โปแลนด์จึงถูกแบ่งดินแดนถึง ๓ ครั้ง คือ ใน ค.ศ. ๑๗๗๒, ค.ศ. ๑๗๙๓ และ ค.ศ. ๑๗๙๕ จนอาณาจักรโปแลนด์ถูกลบหายไปจากแผนที่ของยุโรปไปช่วงเวลาหนึ่ง ในการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๓ รัสเซียได้ดินแดนทางตะวันออกของลัตเวียที่เรียกว่าลัตกาเลและต่อมาได้ดินแดนลัตเวียทางตะวันตกที่เป็นของโปแลนด์หรือดัชชีแห่งคูร์ลันด์ (Duchy of Courland) ตามลำดับ ลัตเวียในท้ายที่สุดจึงกลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย
     ภายหลังการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ซึ่งเป็นการจัดระเบียบและแบ่งเขตแดนของนานาประเทศในยุโรปหลังการแพ้ของฝรั่งเศสในสงครามโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* แห่งรัสเซียโปรดให้ยกเลิกระบบทาสติดที่ดินในลัตเวียแต่ชาวนาไม่มีสิทธิครอบครองหรือซื้อที่ดินและห้ามโยกย้ายออกจากที่ดินชาวนาลัตเวียจำนวนไม่น้อยจึงหันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียออร์ทอดอกซ์โดยหวังจะได้รับสิทธิทางสังคมที่ดีขึ้น ซาร์ยังพยายามใช้นโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซีย (Russification) อย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเฉพาะด้านการปกครอง การศาล และการศึกษา ต่อมาในรัชสมัยซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๘๑)* ซึ่งเป็นสมัยของการปฏิรูปประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมและทันสมัยเท่าเทียมประเทศตะวันตก ชาวนาลัตเวียได้รับสิทธิให้ซื้อและครอบครองที่ดินรวมทั้งเคลื่อนย้ายออกจากที่ดินได้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงเริ่มเกิดขึ้นโดยมีการอพยพเข้าไปอาศัยในเมืองมากขึ้นและลูกหลานชาวนาที่มีฐานะมีโอกาสได้รับการศึกษาและทำงานในราชการตลอดจนเลื่อนฐานะทางสังคมให้สูงขึ้นด้วยการแต่งงานกับชาวบอลติกเชื้อสายเยอรมัน ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ปัญญาชนลัตเวียจำนวนหนึ่งที่ศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งดอร์พัต (University of Dorpat) ซึ่งอยู่ในเอสโตเนียและเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในรัฐบอลติกได้รวมตัวกันเป็นขบวนการโดยเรียกชื่อว่า "ลัตเวียหนุ่ม" (Young Latvians) ขบวนการดังกล่าวได้อิทธิพลทางความคิดจากขบวนการอิตาลีหนุ่ม (Young Italy)* ของจูเซปเป มัซซีนี (Giussppe Mazzini)* ชาวอิตาลีผู้รักชาติที่มีบทบาทสำคัญในการรวมชาติอิตาลีขบวนการลัตเวียหนุ่มเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมเพื่อปลุกจิตสำนึกความรักชาติและความภาคภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรมพื้นบ้านในกลุ่มชาวลัตเวียที่มีการศึกษาและมีฐานะ
     การเคลื่อนไหวของขบวนการลัตเวียหนุ่มได้นำไปสู่การจัดตั้งสมาคมลัตเวียแห่งริกา (Latvian Association of Riga) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๖๘ โดยมีวัตถุประสงค์จะส่งเสริมการศึกษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นทั่วรัฐบอลติก ในค.ศ. ๑๘๗๓ สมาคมลัตเวียแห่งริกาได้จัดงานเทศกาลดนตรีลัตเวีย (Latvian Song Festival) ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อแสดงพลังทางวัฒนธรรมซึ่งประสบความสำเร็จไม่น้อยเพราะทำให้เกิดความตื่นตัวและสนใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นและประเพณีของชาติมากขึ้น ขบวนการลัตเวียหนุ่มยอมรับอำนาจการปกครองของซาร์แห่งรัสเซียและไม่ต้องการก่อการปฏิวัติทางสังคมและการเมือง พวกเขาสนใจเพียงการเคลื่อนไหวปลุกจิตสำนึกประชาชนและใช้หนังสือพิมพ์ Petersburg Newspaper เป็นสื่อถ่ายทอดความคิดเห็นและแนวนโยบาย
     อย่างไรก็ตาม ในรัชสมัยซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗)* พระองค์ทรงดำเนินนโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซียอย่างเข้มงวดและลงโทษผู้ที่ต่อต้านอย่างรุนแรงทั้งในรัฐบอลติกทั้ง ๓ แห่งรวมทั้งในฟินแลนด์ด้วย ปัญญาชน ลัตเวียหัวรุนแรงที่เป็นสมาชิกขบวนการลัตเวียหนุ่มจึงเริ่มเคลื่อนไหวในหมู่กรรมกรโรงงานและชาวนาที่ไม่มีที่ดินเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง และรณรงค์ให้สมาคมลัตเวียแห่งริกาหันมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามประชาชาติลัตเวีย ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ มีการชุมนุมและการก่อจลาจลของกรรมกรอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลรัสเซียจึงปราบปรามอย่างรุนแรง และจับกุมสมาชิกลัตเวียหนุ่มหัวรุนแรงกว่า ๘๗ คนทั้งสั่งปิดหนังสือพิมพ์ รายวัน The New Current ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มลง ปัญญาชนที่หนีรอดจากการกวาดล้างจึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวใต้ดินโดยก่อตั้งเป็นองค์กรที่มีชื่อว่ากลุ่มสังคมประชาธิปไตยขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๙๙ ต่อมาก็ยอมรับแนวความคิดลัทธิมากซ์ (Marxism)* และแนวทางเคลื่อนไหวปฏิวัติตามแบบพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ของรัสเซียที่มีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๒๔)* เป็นผู้นำ ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ กลุ่มสังคมประชาธิปไตยได้ร่วมกับปัญญาชนลัทธิมากซ์จัดตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกขึ้นโดยใช้ชื่อว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยลัตเวีย (Latvian Social Democratic Labour Party - LSDLP) ขึ้น ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๓ กลุ่มสายกลางที่มีแนวความคิดชาตินิยมและต้องการสิทธิในการปกครองตนเองได้แยกตัวออกมาจัดตั้งพรรคที่เรียกว่าสหภาพสังคมประชาธิปไตยลัตเวีย (Latvian Social Democratic Union - LSDU) ขึ้น เมื่อมีการจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๔ ของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party - RSDLP)* ขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm) สวีเดน ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ผู้แทนของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยลัตเวียได้ขอเข้ารวมกับพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียโดยมีสถานภาพเป็นองค์การพรรคสาขาอิสระที่ปกครองตนเองในส่วนภูมิภาคมีชื่อว่า พรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งภูมิภาคลัตเวีย (Social Democracy of the Latvia Region - SDLK) พรรคดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่แนวความคิดสังคมนิยมและสนับสนุนการเคลื่อนไหวปฏิวัติของบอลเชวิคในแถบบอลติกและฟินแลนด์
     ความพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามรัสเซียญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* และเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ที่นำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ในเดือนตุลาคมเปิดโอกาสให้ลัตเวียเคลี่อนไหวเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเอง รัสเซียส่งกองทัพมาปราบปรามและการปะทะกันอย่างนองเลือดได้ทำให้การต่อต้านรัสเซียขยายตัว มีการจัดตั้งสภาคนงานขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ซาร์นิโคลัสทรงพยายามแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในจักรวรรดิรัสเซียและดินแดนใต้การปกครองด้วยการประกาศ "คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม" (October Manifesto) เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออกทางความคิดเห็นและการชุมนุม ตลอดจนการจัดตั้งสภาดูมา (Duma)* ขึ้นเพื่อปฏิรูปการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อทรงควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองไว้ได้ก็ดำเนินการปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วจักรวรรดิอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ในช่วงสมัยการปกครองของสภาดูมาระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๑๗ ลัตเวียได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมในสภาดูมา และรัสเซียผ่อนคลายนโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซียทั้งยอมให้มีการใช้ภาษาลัตเวียในงานเขียนและการติดต่อสื่อสารทั่วไป
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้น ผู้แทนลัตเวียในสภาดูมาประกาศสนับสนุนนโยบายสงครามของรัสเซีย แต่ความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องของรัสเซียตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๑๕ ทำให้กองทัพเยอรมันรุกคืบหน้า และเข้ายึดครองคูร์เซเม และเซมกาเลทางภาคตะวันตกของลัตเวียได้ ชาวลัตเวียต้องอพยพหนีเข้าไปในรัสเซียและรัฐบาลรัสเซียสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ไปตั้งรกรากในแถบตะวันออกไกลและคอเคซัส (Caucasus) ขณะเดียวกันรัฐบาลรัสเซียก็โยกย้ายโรงงานอุตสาหกรรมและเครื่องจักรกลต่าง ๆ ในกรุงริกาและเมืองต่าง ๆ ของลัตเวียมาไว้ที่รัสเซียตอนกลาง รัสเซียยังจัดตั้งสมาคมผู้อพยพลัตเวีย (Latvian Refugee Associations) และกรมทหารปืนไรเฟิลลัตเวีย (Latvian Rifles Regiment) ขึ้นเพื่อต่อต้านเยอรมนี องค์การทั้ง ๒ แห่งในเวลาอันสั้นกลายเป็นความหวังของชาวลัตเวียชาตินิยม เพราะการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพของสมาคมผู้อพยพลัตเวีย ทำให้สมาคมมีบทบาทเป็นที่ยอมรับของผู้อพยพและกลายเป็นศูนย์กลางการบริหารปกครองในการจะจัดตั้งรัฐลัตเวียขึ้นในอนาคต ส่วนกรมทหารปืนไรเฟิลลัตเวียคือศูนย์กลางของกองทัพลัตเวียปัญญาชนชาตินิยมจึงเริ่มเคลื่อนไหวเพื่ออำนาจการปกครองตนเองภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ความพ่ายแพ้ของกองทัพรัสเซียยังทำให้ทหารลัตเวียในกรมทหารปืนไรเฟิลลัตเวียที่มีนายทหารรัสเซียเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ต้องการสละชีวิตเพื่อรัสเซียอีกต่อไป ทหารลัตเวียจึงหันมาร่วมมือกับพรรคสังคมประชาธิปไตยลัตเวียที่สนับสนุนพรรคบอลเชวิคให้ยึดอำนาจทางการเมือง
     หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัสเซียมีการปกครองแบบทวิอำนาจ (dual power) ระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียต รัฐบาลเฉพาะกาลได้แต่งตั้งผู้แทนลัตเวียไปกรุงริกาเพื่อควบคุมดูแลการบริหารปกครองลัตเวียแต่ประสบความล้มเหลวเพราะพรรคสังคมประชาธิปไตยลัตเวียซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทหารลัตเวียยึดอำนาจทางการเมืองได้ก่อนและจัดตั้งสภาโซเวียตริกา (Riga Soviets) ขึ้นเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลปกครอง ขณะเดียวกันตามเมืองต่าง ๆ ก็มีการจัดตั้งสภาโซเวียตขึ้นด้วยอย่างไรก็ตาม อำนาจการปกครองของสภาโซเวียตริกาก็ดำรงอยู่เพียงระยะเวลาอันสั้นเพราะในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ กองทัพเยอรมนีได้บุกยึดครองกรุงริกาและพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ได้ทั้งหมด
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ รัฐบาลบอลเชวิคซึ่งยึดอำนาจทางการเมืองในรัสเซียได้สำเร็จในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ เปิดการเจรจากับเยอรมนีเพื่อทำสนธิสัญญาสันติภาพ รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามได้สำเร็จด้วยการยอมลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Brest-Litovsk)* กับประเทศมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ประกอบด้วยเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี บัลแกเรียและตุรกีเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาฉบับนี้ รัสเซียต้องสละสิทธิการปกครองในโปแลนด์ ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย และต้องยกดินแดนบางส่วนในทรานส์คอเคเชีย (Transcaucasia) ให้แก่ตุรกี เยอรมนีมีแผนจะจัดตั้งแกรนด์ดัชชีบอลติก (Baltic Grand Duchy) ขึ้นโดยไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* เป็นประมุข แต่แผนดังกล่าวล้มเหลวเพราะเยอรมนีปราชัยในสงครามและถูกฝ่ายสัมพันธมิตรบังคับให้ลงนามในสัญญาการสงบศึก (Armistice)* ที่เมืองกงเปียญ (Compiègne) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๘๐ กิโลเมตร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ อีก ๔ วันต่อมารัฐบาลโซเวียตก็ประกาศให้สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์เป็นโมฆะ กลุ่มลัตเวียชาตินิยมและพรรคการเมืองต่าง ๆ จึงเห็นเป็นโอกาสจัดตั้งสภาแห่งชาติลัตเวีย (Latvian National Council) ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนขององค์การและพรรคการเมืองต่าง ๆ สภาแห่งชาติลัตเวียจึงประกาศความเป็นเอกราชของลัตเวียเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยมี คาร์ลิสอุลมานิส (Kārlis Ulmanis) ผู้นำพรรคสหภาพชาวนา (Farmers’ Union) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ
     ในช่วงเวลาที่เยอรมนีเริ่มถอนกำลังออกจากการยึดครองลัตเวียนั้น รัฐบาลโซเวียตได้ส่งกองทัพแดงเข้าสู่กรุงริกาเพื่อยึดครองและนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพแดงที่กลุ่มลัตเวียบอลเชวิคให้การสนับสนุนกับกองทัพเยอรมันและกองทัพแห่งชาติลัตเวีย (Latvian National Army) ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ กองทัพแดงยึดครองลัตเวียได้และประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตลัตเวีย (Soviet Republic of Latvia) ขึ้น อุลมานิสและคณะรัฐบาลหนีภัยโดยอาศัยเรือรบอังกฤษไปจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลที่เมืองท่าเลียปายาและรวบรวมกำลังเพื่อโค่นอำนาจกลุ่มโซเวียตลัตเวียในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๙ รัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งได้รับการสนับสนุนกำลังอาวุธจากอังกฤษและฝรั่งเศสก็สามารถขับไล่ทั้งฝ่ายเยอรมันและฝ่ายโซเวียตออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของลัตเวียและเคลื่อนกำลังมุ่งสู่กรุงริกาจนมีชัยชนะรัฐบาลโซเวียตลัตเวียสิ้นสุดอำนาจลงเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๐ รัฐบาลเฉพาะกาลได้ดำเนินการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อปกครองประเทศ ต่อมามีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างลัตเวียกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ และสหภาพโซเวียตกับลัตเวียเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ โดยสหภาพโซเวียตยอมล้มเลิกสิทธิต่าง ๆ ในลัตเวียในปีต่อมาสภาสัมพันธมิตรสูงสุด (Supreme Allied Council) ที่กรุงปารีสก็ประกาศรับรองสถานภาพของสาธารณรัฐลัตเวียโดยนิตินัยเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๑ และประเทศอื่น ๆ ก็ทยอยรับรองตามลำดับใน ปลายปีเดียวกันนั้นลัตเวียก็ได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิกองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๑
     ลัตเวียประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๒ โดยปกครองในระบอบสาธารณรัฐระบบสภาเดียว (unicameral system) สมาชิกรัฐสภามีจำนวน ๑๐๐ คน ซึ่งเลือกตั้งทุก ๔ ปี ภาษาลัตเวียเป็นภาษาราชการ และรัฐธรรมนูญให้สิทธิชนชาติส่วนน้อยในประเทศคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของตนเอง ยานิส ชาคสเต (Jānis Cakste) เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ (ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๗) หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปที่ดินและเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำของประเทศทั้งเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ เนื่องจากสหภาพโซเวียตไม่ยอมส่งเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมที่ได้โยกย้ายไปไว้ในรัสเซียกลับคืน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๔ ลัตเวียมีรัฐบาลผสมบริหารประเทศ ๑๔ ชุด และการมีพรรคการเมืองจำนวนมากก็ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ระหว่าง ค.ศ ๑๙๒๙-๑๙๓๒ กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาก็โจมตีรัฐบาล และชาวเยอรมันเชื้อสายบอลติกก็สนับสนุนลัทธินาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๔ อุลมานิสซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๘ เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองอื่น ๆ ต่อต้านเพราะเกรงว่าพรรคสหภาพชาวนาของอุลมานิสจะกุมเสียงข้างมากในสภา เมื่ออุลมานิสสั่งยุบสาขาของพรรคภราดรภาพบอลติก (Baltic Brotherhood) ซึ่งเคลื่อนไหวให้รวมรัฐบอลติกเข้ากับจักรวรรดิไรค์ (Reich) ของเยอรมนี พรรคการเมืองฝ่ายขวาอื่น ๆ โดยเฉพาะพรรคฟาสซิสต์ลัตเวียทีมีชื่อเรียกว่า ทันเดอร์ครอสส์ (Thundercross) ก็เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและโฆษณาปลุกระดมประชาชนให้สนับสนุนแนวความคิดลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* จนรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน และยุบสภารวมทั้งพรรคการเมืองทั้งหมดโดยปกครองประเทศแบบอำนาจนิยม (authoritarianism) นักการเมืองกว่า ๓๐๐ คนถูกจับคุมขังเป็นเวลา ๒ ปี ๖ เดือน และส่วนที่รอดพ้นจากการถูกจับก็อยู่ใต้การสอดส่องของตำรวจ ระบอบประชาธิปไตยในลัตเวียจึงสิ้นสุดลง
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่อเยอรมนีเตรียมก่อสงครามและหาทางหลีกเลี่ยงการเปิดแนวรบสองด้านด้วยการลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซีโซเวียต (Nazi-Soviet Non-agression Pact)* หรือที่

เรียกกันว่ากติการิบเบนทรอพ-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact) เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เคานต์โยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันได้จัดทำพิธีสารลับเพิ่มเติม (Secret Supplementary Protocol) กับโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๙๕๓)* โดยให้สหภาพโซเวียตครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของโปแลนด์ตะวันออก ฟินแลนด์ ลัตเวีย เอสโตเนีย และลิทัวเนีย และเยอรมนีจะยึดครองดินแดนโปแลนด์ที่เหลือทั้งหมด การคุกคามทางทหารของสหภาพโซเวียตตามความตกลงลับดังกล่าวทำให้ลัตเวียถูกบีบให้ลงนามในสนธิสัญญาความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Treaty of Mutual Assistance) กับสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ โดยยอมให้สหภาพโซเวียตสร้างฐานทัพทางทหารในประเทศสหภาพโซเวียตได้ส่งทหารกว่า ๓๐,๐๐๐ คนเข้ามาประจำการในลัตเวีย อำนาจทางทหารของโซเวียตยังเปิดโอกาสให้พรรคคอมมิวนิสต์ลัตเวียมีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ สหภาพโซเวียตสร้างสถานการณ์เพื่อเข้ายึดครองลัตเวียด้วยการใช้เหตุการณ์ปะทะกันที่ด่านตรวจข้ามพรมแดนใกล้เมืองมาสเลนกี (Maslenki) ส่งกำลังทหารเข้ามารักษาความสงบ ชาวลัตเวียถูกสังหาร ๕ คนและอีก ๓๗ คนถูกจับ รัฐบาลโซเวียตยื่นคำขาดให้มีการจัดตั้งรัฐบาลลัตเวียชุดใหม่ และให้กองทัพโซเวียตเข้ามารักษาความสงบในลัตเวีย รัฐบาลลัตเวียซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการนองเลือดยอมรับคำขาดของสหภาพโซเวียตและสั่งให้กองทหารลัตเวียยอมจำนน สหภาพโซเวียตจึงเข้ายึดครองลัตเวียในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ และประกาศผนวกลัตเวียเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กองทัพโซเวียตก็เข้ายึดครองเอสโตเนีย ลิทัวเนีย และฟินแลนด์ตามลำดับ
     อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับการผนวก ๓ สาธารณรัฐบอลติกของสหภาพโซเวียต ซัมเนอร์ เวลส์ (Sumner Welles) ปลัดกระทรวงการต่าง ประเทศได้ออกประกาศที่เรียกว่า คำประกาศซัมเนอร์ (Sumner’s Declaration) เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ ว่าการผนวกรัฐบอลติกเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมตามกฎหมายและสหรัฐอเมริกายังคงยอมรับโดยนิตินัย (de jure recognition) สถานภาพการดำรงอยู่ของสาธารณรัฐลัตเวียประเทศตะวันตกอื่น ๆ ก็ออกประกาศเช่นเดียวกัน ดังนั้น สาธารณรัฐลัตเวียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๙๑ จึงยังคงความเป็นรัฐอธิปไตยตามกฎหมายระหว่างประเทศ และมีผู้แทนทางการทูตและกงสุลปฏิบัติงานบางด้านที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐลัตเวียอยู่ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศตะวันตกอื่น ๆ ตลอดระยะเวลา ๔๑ ปีดังกล่าว
     รัฐบาลลัตเวียชุดใหม่ที่สหภาพโซเวียตสนับสนุนได้นำระบอบการปกครองแบบโซเวียตมาประยุกต์ใช้และเริ่มเข้าควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวด ในกลาง เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ รัฐสภาลัตเวียหรือซาเอย์มา (Saeima) ก็ดำเนินการเลือกตั้งทั่วไปโดยผู้แทนสภาที่ได้รับการเลือกตั้งล้วนเป็นสมาชิกพรรค คอมมิวนิสต์หรือที่สนับสนุนแนวนโยบายคอมมิวนิสต์ส่วนฝ่ายตรงข้ามจะถูกจับกุมและกลั่นแกล้งไม่ให้มีโอกาสได้รับเลือกตั้งในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม รัฐสภาที่เรียกกันต่อมาว่ารัฐสภาปลอมก็เปิดประชุมสมัยแรกและมีมติให้ลัตเวียเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียตซึ่งในทางปฏิบัติเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหภาพโซเวียตก็รับลัตเวียเข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ สหภาพโซเวียตได้ใช้นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียต (Sovietization) ปกครองลัตเวียและภายในเวลาเพียง ๑ เดือน ธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ ๘๐๐ แห่งก็ถูกโอนเป็นของรัฐและกิจการธนาคารของประเทศถูกรวมเข้ากับธนาคารชาติโซเวียต (Soviet State Bank) ทั้งเงินออมของประชาชนที่มากกว่า ๑,๐๐๐ รูเบิลจะถูกยึดเป็นของรัฐ มีการปฏิรูปการศึกษาโดยปลดครูอาจารย์ชาวลัตเวียที่เก่งทางด้านวิชาการต่าง ๆ ออกและบรรจุบุคคลที่มีคุณสมบัติทางวิชาการต่ำเข้าสอนแทน ภาษารัสเซียเป็นภาษาบังคับที่ทุกโรงเรียนและสถาบันต้องเปิดสอนอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๔ ชั่วโมง ขณะเดียวกันมีการจำหน่ายหนังสือกว่า ๔,๐๐๐ ชื่อเรื่องที่มีเนื้อหาต้องห้ามออกจากห้องสมุดทั่วประเทศ และนักเขียนที่ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศจะถูกจับกุมกวาดล้างระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๑ มีการจับกุมประชาชนด้วย ข้อหาเป็นอาชญากรทางการเมืองทุกเดือนรวมกว่า ๗,๒๙๒ คน และ ๑,๕๐๐ คนถูกตัดสินประหาร ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ พลเมืองลัตเวียกว่า ๑๔,๐๐๐ คนถูกเนรเทศไปไซบีเรีย หรือส่งไปค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)*
     เมื่อเยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียตโดยใช้ยุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)* ในปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนีได้เข้ายึดครองลัตเวียด้วยซึ่งประชาชนจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนเยอรมนีเพราะถือว่าเป็นผู้ช่วยปลดปล่อยจากอำนาจโซเวียต เยอรมนีได้สร้างเขตกักบริเวณชาวยิวหรือเกตโต (ghetto) นอกกรุงริกาและค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ตามพรมแดน ประมาณว่าชาวลัตเวียจำนวน ๒,๕๐๐ คนร่วมมือสนับสนุนเยอรมนีในการกำจัดพลเมืองลัตเวียเชื้อสายยิวและกลุ่มบุคคลที่ไม่พึงปราถนาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ก็มีพลเมืองลัตเวียจำนวนไม่น้อยอาสาสมัครเข้าประจำการในกองทัพนาซี อย่างไรก็ตาม ชาวลัตเวียที่รักชาติอีกมากก็เคลื่อนไหวใต้ดินต่อต้านนาซีและประสานงานกับฝ่ายพันธมิตรเพื่อปลดปล่อยประเทศจากการยึดครอง ในช่วงที่เยอรมนีปกครองลัตเวียนั้น เยอรมนีได้บีบเค้นทรัพยากรทั้งวัตถุดิบและกำลังคนเพื่อสนับสนุนนโยบายสงครามและกวาดต้อนพลเมืองลัตเวียกว่า ๓๕,๐๐๐ คนไปเป็นแรงงานที่เยอรมนี เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงลัตเวียจึงเป็นประเทศที่อยู่ในความหายนะ เพราะบ้านเมืองเสียหายอย่างยับเยินจากการทำสงครามระหว่างนาซีกับขบวนการใต้ดินและการปะทะกันระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตและฝ่ายพันธมิตร เขตชนบทเต็มไปด้วยลวดหนามและกับระเบิด ประมาณว่าจำนวนพลเมืองลดน้อยลงมากว่าร้อยละ ๓๐ ของช่วงก่อนสงคราม และอัตราการสูญหายของพลเมืองลัตเวียเชื้อสายยิวก็สูงที่สุดในยุโรปด้วย
     สหภาพโซเวียตซึ่งกลับมาปกครองลัตเวียอีกครั้งหนึ่งในช่วงหลังสงครามได้ใช้นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียตอย่างเข้มงวด และเรียกชื่อประเทศว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลัตเวียขณะเดียวกันก็ดำเนินนโยบายปรับระบบเศรษฐกิจลัตเวียเป็นอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของโซเวียตชาวนาถูกบังคับให้เข้าร่วมโครงการนารวมแต่ได้รับการต่อต้าน รัฐบาลจึงเนรเทศชาวนาที่ถูกกล่าวหาเป็นพวกชาวนารวยกว่า ๔๓,๐๐๐ คนไปไซบีเรีย การเนรเทศมีส่วนทำให้ร้อยละ ๙๘ ของชาวนา ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ เข้าร่วมนารวม ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๕ สหภาพโซเวียตสนับสนุนแรงงานชาวโซเวียตกว่า ๕๓๕,๐๐๐ คน เข้ามาตั้งถิ่นฐานในลัตเวีย และใน ค.ศ. ๑๙๔๖ มีชาวโซเวียต ๔๑,๐๐๐ คน มาจัดตั้งเขตชุมชนอุตสาหกรรมทั่วกรุงริกา รวมทั้งมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวน ๙,๐๐๐ คน ถูกส่งมาบริหารปกครององค์กรพรรคระดับต่าง ๆ ในลัตเวีย การต่อต้านนโยบายของโซเวียตจะถูกลงโทษอย่างหนัก ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๓ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการกวาดล้างครั้งสุดท้ายในสหภาพโซเวียตที่มีสตาลินเป็นผู้นำ ในลัตเวียช่วงเวลาเดียวกันก็มีการจับกุมและเนรเทศชาวลัตเวียที่ต่อต้านโซเวียตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐบาลห้ามจัดงานประเพณีและวัฒนธรรมของลัตเวียบังคับให้เรียนภาษาและวัฒนธรรมโซเวียต รวมทั้งมีการเปลี่ยนชื่อเมือง ถนน จัตุรัส และสถานที่สำคัญ ๆ ให้เป็นชื่อนักปฏิวัติหรือวีรบุรุษของโซเวียต ตลอดจนให้เขียนประวัติศาสตร์ลัตเวียใหม่โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบอลติกตั้งแต่แรกเริ่มเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตมาก่อน
     เมื่อนีกีตา เซียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Khrushchev ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๗๑)* เริ่มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* เพื่อทำลายแนวความคิดลัทธิการบูชาบุคคล (Cult of Personality)* และกลุ่มนิยมสตาลินทั้งในสหภาพโซเวียตและประเทศรัฐบริวาร ครุชชอฟได้ผ่อนปรนความเข้มงวดทางสังคมและให้ประชาชนลัตเวียมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น ปัญญาชนและประชาชน ๓๐,๐๐๐ คนที่ได้รับการปล่อยตัวจากค่ายกักกันแรงงานจึงกลับมามีบทบาททางสังคมในการเคลื่อนไหวสร้างจิตสำนึกทางวัฒนธรรม วิลิส ครูมินส์ (Vilis Krumins) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ลัตเวียที่ขึ้นมามีอำนาจแทนคอมมิวนิสต์นิยมสตาลินที่ถูกปลดออกสนับสนุนการสร้างสรรค์วัฒนธรรมชาติ และการใช้ภาษาลัตเวียในหน่วยงานพรรคทุกระดับ รวมทั้งให้เพิ่มการสอนภาษาและวรรณคดีลัตเวียในสถาบันอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม แนวทางคอมมิวนิสต์ชาตินิยมในลัตเวียก็ดำรงอยู่ในช่วงเวลาอันสั้นเพราะการสิ้นสุดอำนาจของครุชชอฟทำให้เลโอนิด อิลยิช เบรจเนฟ (Leonid Ilyich Brezhnev ค.ศ. ๑๙๐๖-๑๙๘๒)* ผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียตยกเลิกนโยบายการผ่อนคลายทางสังคมและการเมือง เบรจเนฟปลดคอมมิวนิสต์ชาตินิยมกว่า ๒,๐๐๐ คนออกจากอำนาจและแต่งตั้งคอมมิวนิสต์หัวอนุรักษ์ที่สนับสนุนโซเวียตให้ดำรงตำแหน่งแทน และดำเนินนโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียตอย่างเข้มงวดอีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันโซเวียตก็เร่งพัฒนาลัตเวียให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๑-๑๙๘๙ แรงงานชาวโซเวียต ๑,๔๖๖,๗๐๐ คน เข้ามาทำงานในลัตเวียและกว่า ๓๓๐,๐๐๐ คน ตั้งรกรากอย่างถาวร ชาวลัตเวียต่อต้านแรงงานต่างชาติเหล่านี้มากและกลายเป็นปัญหาขัดแย้งทางสังคม ขณะเดียวกันชาวลัตเวียก็ต่อต้านสถาบันปกครองโซเวียตอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่งด้วยการเคลื่อนไหวใต้ดินและทำสงครามจรยุทธ์ในเขตชนบทเหมือนช่วงทศวรรษ ๑๙๔๐ ถึงต้นทศวรรษ ๑๙๕๐
     ในทศวรรษ ๑๙๗๐ ลัตเวียเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าและทันสมัยทั้งนับเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญของสหภาพโซเวียต ปัญหาทางสังคมที่ลัตเวียประสบคือการอพยพของชาวชนบทเข้าสู่เมืองเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งจำนวนแรงงานรัสเซียที่เพิ่มมากขึ้นจนชาวลัตเวียเริ่มกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศของตนเอง ปัญหาอาชญากรรม การหย่าร้าง และการทำแท้ง รวมถึงการฆ่าตัวตายตลอดจนการติดสุรากลายเป็นปัญหาหลักทางสังคม ปัญญาชนจึงพยายามรวมตัวกันเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านความทันสมัยที่กำลังคุกคามสังคมและนโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียต มีการรณรงค์ฟื้นฟูงานศิลปะพื้นบ้าน ขนบประเพณีท้องถิ่นให้เป็นที่สนใจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ เอดูอาดส์ เบียร์คลัฟส์ (Eduards Berklavs) ผู้นำคนสำคัญของกลุ่มปัญญาชนได้ทำจดหมายเปิดผนึกที่ชื่อว่า "สารของคอมมิวนิสต์ ๑๗ คน" (Letter of the Seventeen Communists) ถึงพรรคคอมมิวนิสต์ยุโรปต่าง ๆ โจมตีนโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียต และการยึดครองลัตเวียของสหภาพโซเวียตที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนอกรีต (dissidents) ในประเทศยุโรปตะวันออกที่ต่อต้านโซเวียต การเคลื่อนไหวของปัญญาชนกลุ่มนี้ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนักเพราะประชาชนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้จักพวกเขาและการที่รัฐบาลควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวดก็ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มไม่เป็นที่รับรู้กัน
     ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ เมื่อประธานาธิบดีมีฮาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachev ค.ศ. ๑๙๓๑- )* เข้าดำรงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียตต่อจากคอนสตันติน อุสติโนวิช เชียร์เนนโค (Konstantin Ustinovich Chernenko ค.ศ. ๑๙๑๑-๑๙๘๕)* กอร์บาชอฟได้เสนอนโยบาย กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika)* หรือนโยบายเปิด-ปรับเพื่อปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและเน้นความร่วมมือกับนานาประเทศการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมในสหภาพโซเวียตดังกล่าวเปิดโอกาสให้ปัญญาชนลัตเวียใช้เงื่อนไขของนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกาเคลื่อนไหวเรียกร้องอำนาจอธิปไตยภายในประเทศด้วย การเคลื่อนไหวของปัญญาชนเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๘๖ เพื่อต่อต้าน โครงการสร้างเขื่อนและโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำของโซเวียตบริเวณแม่น้ำเดากาวา ปัญญาชนได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสโมสรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environment Protection Club) ขึ้น ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นพรรคกรีนลัตเวีย (Latvian Green Party) รณรงค์การอนุรักษ์ธรรมชาติและต่อต้านโครงการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตลอดจนต่อต้านแรงงานโซเวียตที่จะเข้ามาในประเทศมากขึ้น การเคลื่อนไหวประสบความสำเร็จโดยสหภาพโซเวียตยอมล้มเลิกโครงการและนับเป็นชัยชนะครั้งแรกของพลังมวลชนต่ออำนาจรัฐความสำเร็จของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ผลักดันให้กรรมกรเมืองท่าเลียปายาทางภาคตะวันตกของประเทศจัดตั้งกลุ่ม "เฮลซิงกิ-๘๖" (Helsinki-86) ขึ้นในกลาง ค.ศ. ๑๙๘๖ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการเอารัดเอาเปรียบของแรงงานโซเวียต และติดตามเฝ้ามองด้านการคุกคามทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม กลุ่มดังกล่าวยังประสานการเคลื่อนไหวดำเนินงานกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ในเอสโตเนีย และลิทัวเนีย ตำรวจลับพยายามคุกคามและกวาดล้างกลุ่มดังกล่าวทั้งเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด การข่มขู่คุกคามดังกล่าวทำให้กลุ่มเฮลซิงกิร่วมกับกลุ่มปัญญาชนอื่น ๆ เคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ค.ศ ๑๙๘๗ ซึ่งตรงกับวันที่สหภาพโซเวียตเนรเทศพลเมืองลัตเวียในวันดังกล่าวมีประชาชนกว่า ๕,๐๐๐ คนมาร่วมชุมนุมและนับเป็นการแสดงออกทางการเมืองครั้งแรกในลัตเวีย ในเดือนสิงหาคมต่อมาซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๔๕ ปีของการลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานต่อกันระหว่างนาซี-โซเวียต มีการเดินขบวนต่อต้านโซเวียตและเรียกร้องอำนาจอธิปไตยของลัตเวีย
     ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๘ ปัญญาชนกลุ่มต่าง ๆ จัดประชุมขึ้นที่กรุงริกาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองรวมทั้งให้ชำระประวัติศาสตร์ของประเทศที่ถูกครอบงำจากสหภาพโซเวียตเพื่อสร้างความถูกต้องในประวัติศาสตร์ระหว่างการประชุมมาฟริค วุลฟ์ซอน (Mavrik Vulfson) นักหนังสือพิมพ์และนักวิเคราะห์การเมืองที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้เปิดประเด็นท้าทายอำนาจการปกครองของโซเวียตโดยกล่าวว่าลัตเวียถูกสหภาพโซเวียตใช้กำลังเข้ายึดครองใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ความเห็นดังกล่าวได้นำไปสู่การอภิปรายโต้แย้งและการเคลื่อนไหวต่อต้านความไม่ชอบธรรมในการปกครองทางกฎหมายของโซเวียตและต่อต้านชาวโซเวียตลัตเวีย มีการจัดตั้งขบวนการเอกราชชาติลัตเวีย (Latvian National Independent Movement - LNNK) ขึ้น ซึ่งนับเป็นขบวนการมวลชนระดับชาติครั้งแรกทึ่เคลื่อนไหวเพื่อเอกราชต่อมาในเดือนตุลาคม มีการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมลัตเวีย (Latvian Popular Front - LTF) ขึ้นและในเวลาอันสั้นก็มีสมาชิกกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คนซึ่งนับเป็นกลุ่มประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ขบวนการเอกราชชาติลัตเวียและกลุ่มแนวร่วมลัตเวียต่างผนึกกำลังกันกดดันสหภาพโซเวียตเพื่อเอกราช และรณรงค์ให้ใช้ภาษาลัตเวียเป็นภาษาราชการ รวมทั้งให้นำธงชาติก่อน ค.ศ. ๑๙๔๐ มาเป็นธงประจำชาติ การเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าวทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ลัตเวียแตกแยกเป็น ๒ กลุ่มคือกลุ่มที่สนับสนุนโซเวียตซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่กับกลุ่มที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนซึ่งต่อมาถูกขับออกจากพรรค สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่ถูกขับจึงเข้าร่วมสนับสนุนกลุ่มแนวร่วมลัตเวีย กลุ่มแนวร่วมลัตเวียซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นยังหันมารณรงค์ให้ชนชาติกลุ่มน้อยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพวกเบโลรัสเซีย ยูเครน โปล ยิปซี ยิว และอื่น ๆ เข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชด้วย
     ในการเลือกตั้งผู้แทนสภาทั่วไปในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ ผู้แทนของกลุ่มแนวร่วมลัตเวียได้รับเลือกเข้าสู่สภาเป็นจำนวนมากและทำให้การผูกขาดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในสภาถูกทำลายลง ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ รัฐสภาลัตเวียประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้กฎหมายของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตลัตเวียอยู่เหนือกฎหมายของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ขณะเดียวกัน ก็เตรียมการเลือกตั้งผู้แทนรัฐสภาโซเวียตลัตเวียสูงสุดด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการประชาชน (Citizens Committee) ขึ้น คณะกรรมาธิการดังกล่าวเรียกร้องให้ชาวลัตเวียที่อาศัยในประเทศก่อนถูกสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองใน ค.ศ. ๑๙๔๐ มาลงทะเบียนเพื่อแสดงประชามติว่าต้องการสนับสนุนการแยกตัวหรือไม่ ผู้ที่มาลงทะเบียนเกือบ ๙๐๐,๐๐๐ คนสนับสนุนการเรียกร้องเอกราชและทำให้การแยกตัวออกมีความชอบธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๕๐ ปีของกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียตที่นำไปสู่การยึดครองรัฐบอลติกของสหภาพโซเวียต กลุ่มแนวร่วมประชาชนของทั้ง ๓ รัฐบอลติกได้รวมพลังประชาชนจาก ๓ สาธารณรัฐจับมือกันเป็นลูกโซ่ยาว ๗๐๐ กิโลเมตรตั้งแต่กรุงทาลลินน์ (Tallinn) เมืองหลวงของเอสโตเนียผ่านกรุงริกาจนถึงกรุงวิลนีอุส (Vilnius) เมืองหลวงของลิทัวเนีย การต่อต้านอย่างสันติที่ เรียกว่า "สายโซ่บอลติก" (Baltic Chain) ซึ่งประชาชนของสามรัฐบอลติกเข้าร่วมกว่า ๑.๕ ล้านคนได้รับความสนใจจากนานาชาติและเป็นการเรียกร้องเอกราชอย่างสันติที่มีพลังทั้งสร้างสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสาธารณรัฐบอลติกทั้ง ๓ ประเทศ

     ต่อมา ในการเลือกตั้งผู้แทนรัฐสภาโซเวียตลัตเวียสูงสุดในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ ผู้แทนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยลัตเวียได้รับเลือกถึง ๑๓๔ ที่นั่งจากจำนวน ๒๐๐ ที่นั่ง ชัยชนะทางการเมืองดังกล่าวได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตโดยวิถีทางรัฐสภา รัฐสภาโซเวียตลัตเวียสูงสุดได้ยึดแนวทางการแยกตัวเป็นเอกราชของเอสโตเนียเป็นแบบอย่างโดยออก "คำประกาศว่าด้วยเอกราชใหม่ของสาธารณรัฐลัตเวีย" (Declaration about the Renewal of the Independence of the Republic of Latvia) ซึ่งกำหนดว่าจะมีช่วงเวลาดำเนินการระยะหนึ่งเพื่อปรับระบอบการปกครองไปสู่ความเป็นเอกราชที่เรียกว่า "สมัยการเปลี่ยนผ่าน" ในสมัยการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวมีรัฐบาลคู่ คือ รัฐบาลลัตเวียกับรัฐบาลโซเวียต รัฐบาลลัตเวียจะพยายามปรับระบบการเงินและการค้า การป้องกันความมั่นคงภายใน การต่างประเทศและอื่น ๆ ให้มั่นคงก่อนจะประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ
     อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์ลัตเวียหัวอนุรักษ์รวมทั้งกองทัพต่อต้านการดำเนินการดังกล่าว และในต้น ค.ศ. ๑๙๙๑ ได้ใช้กำลังเข้ายึดครองอาคารสำนักพิมพ์และประชาสัมพันธ์รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ ขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์ลัตเวีย เอสโตเนีย และลิทัวเนีย ก็เคลื่อนไหวจัดตั้งคณะกรรมาธิการปลดปล่อยแห่งชาติ (National Salvation Committees) ขึ้นและเรียกร้องให้ยุบรัฐสภาผู้นำกลุ่มแนวร่วมประชาชนลัตเวียจึงเรียกร้องให้ประชาชนรวมพลังกันป้องกันอาคารสถานที่ราชการอื่น ๆ ที่จะถูกโจมตีและถูกยึดครองและให้ชุมนุมต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ลัตเวียและกองทัพโดยสันติวิธี มีการปะทะกันขึ้นและนานาชาติก็เคลื่อนไหวโจมตีการใช้กำลังของสหภาพโซเวียต กระแสการกดดันทั้งภายในและภายนอกประเทศทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ยอมยุติการปราบปราม ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ รัฐบาล ลัตเวียให้มีการลงประชามติแยกตัว ผลปรากฏว่าร้อยละ ๗๓.๖๘ สนับสนุนการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต
     ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการแยกตัวของสาธารณรัฐใต้การปกครองด้วยการเสนอร่างสนธิสัญญาใหม่แห่งสหภาพ (New Treaty of Union) ด้วยการยอมให้รัฐบาลสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ มีอำนาจอธิปไตยในการดำเนินนโยบายภายในอย่างอิสระและให้มีสถานทูตของตนเองในต่างประเทศ แต่นโยบายสำคัญ ๆ เช่น การป้องกันประเทศ การจัดทำงบประมาณ และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะรับผิดชอบร่วมกัน สนธิสัญญาใหม่แห่งสหภาพกำหนดให้ทุกสาธารณรัฐโซเวียตลงนามรับรองในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ แต่ในเดือนมีนาคมปีเดียวกันลัตเวียและอีก ๒ สาธารณรัฐบอลติกรวมทั้งสาธารณรัฐอาร์เมเนีย จอร์เจีย และมอลเดเวีย (Moldavia)* ก็ประกาศปฏิเสธที่จะลงนามรับรอง
     ต่อมา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ กองทัพ และกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวอนุรักษ์ในโซเวียตซึ่งไม่พอใจนโยบายการปฏิรูปของกอร์บาชอฟ และต่อต้านร่างสนธิสัญญาใหม่แห่งสหภาพได้รวมตัวกันก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจากกอร์บาชอฟในขณะที่อยู่ระหว่างการพักผ่อนที่ไครเมีย แต่รัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคมและดำเนินต่อไปเป็นเวลาเกือบ ๑ สัปดาห์ประสบความล้มเหลว เพราะประชาชนซึ่งมีบอริสเยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* เป็นผู้นำรวมพลังกันต่อต้านจนได้รับชัยชนะ ในช่วงที่เกิดรัฐประหารในกรุงมอสโก

ลัตเวียเห็นเป็นโอกาสประกาศการสิ้นสุดของช่วงสมัยการเปลี่ยนผ่านเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ และถือว่าได้เอกราชอย่างสมบูรณ์โดยพฤตินัย สภาลัตเวียสูงสุดประกาศให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๒๒ กลับมาใช้โดยมีสภาซาไอมา (Saeima) เป็นสภานิติบัญญัติสภาเดียว ซึ่งมีสมาชิก ๑๐๐ คน มีวาระดำรงตำแหน่ง ๔ ปี สภาซาไอมาจะเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งจะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภา มีการกำหนดการเลือกตั้งรัฐสภาครั้งที่ ๕ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังได้เอกราชขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๓ โดยกำหนดเขตเลือกตั้งเป็น ๕ ภูมิภาค คือ ริกา วิดเซเม เซมกาเล คูร์เซเม และลัตเกเล ขณะเดียวกันสภาลัตเวียสูงสุดได้เรียกร้องให้สหภาพโซเวียตถอนหน่วยทหารเกือบ ๖๐๐ หน่วยรวมทั้งทหารกว่า ๕๑,๐๐๐ คนออกจากประเทศ แต่รัฐบาลโซเวียตพยายามหน่วงเหนี่ยวเวลาโดยประกาศจะเริ่มถอนกำลังในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๙๒ และดำเนินการให้แล้วเสร็จใน ค.ศ. ๑๙๙๔ กองทหารโซเวียตชุดสุดท้ายได้ถอนกำลังออกจากลัตเวียในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๔ แต่ลัตเวียก็ยอมให้สหพันธรัฐรัสเซียยังคงเช่าครองสถานีเรดาร์ที่เมืองสครุนดา (Skrunda) ไว้จนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ สหรัฐอเมริกาประกาศรับรองความเป็นเอกราชของลัตเวียเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๙๑ และอีก ๓ วันต่อมาก็สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบกับสาธารณรัฐลัตเวีย ในปีเดียวกันสหภาพโซเวียตและประเทศตะวันตกอื่น ๆ ก็เริ่มทยอยรับรองเอกราชของลัตเวียด้วย ในวันที่ ๑๗ กันยายน ลัตเวียก็เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)*
     หลังการประกาศเอกราช ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ สภาสูงสุดแห่งสาธารณรัฐลัตเวีย (Supreme Council of the Repulblic of Latvia) ก็คืนสิทธิความเป็นพลเมืองให้แก่ประชากรเชื้อสายลัตเวียซึ่งเคยเป็นพลเมืองของสาธารณรัฐลัตเวียตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ รวมทั้งให้สิทธิพลเมืองแก่พวกลูกหลานด้วยการคืนสิทธิดังกล่าวทำให้จำนวนประชากรลัตเวียเพิ่มมากขึ้น และมีเพียงร้อยละ ๒๕ ของประชากรเท่านั้นที่ถือว่าไม่ใช่พลเมืองลัตเวีย ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ มีการออกกฎหมายกำหนดหลักการของประชากรสัญชาติอื่น ๆ ที่ต้องการเป็นพลเมืองลัตเวียโดยต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานคือ สามารถอ่านออกเขียนได้เป็นภาษาลัตเวีย มีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และต้องพำนักอาศัยในประเทศไม่น้อยกว่า ๕ ปี ทั้งต้องให้คำปฏิญาณจะจงรักภักดีต่อประเทศ ส่วนชาวลัตเวียที่เกิดนอกประเทศก็จะได้สิทธิความเป็นพลเมืองใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ปรากฏว่าประชากรที่ไม่มีเชื้อสายลัตเวียซึ่งขึ้นทะเบียนขอสิทธิจำนวน ๖๙๐,๔๖๑ คนใน ค.ศ. ๑๙๙๔ ขอเป็นพลเมืองรวม ๖๗๐,๒๐๑ คนและระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๕-๑๙๙๘ ชาวรัสเซียอพยพกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนก็ขอสิทธิเข้าเป็นพลเมืองของประเทศ ทำให้ปัญหาการมีพลเมืองเชื้อสายลัตเวียจำนวนน้อยซึ่งมีมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๐ สิ้นสุดลงนับว่าลัตเวียสามารถแก้ปัญหาเรื่องประชากรของประเทศได้สำเร็จ
     หลัง ค.ศ. ๑๙๙๑ เป็นต้นมา ลัตเวียกำหนดแนวนโยบายต่างประเทศด้วยการมุ่งธำรงรักษาความเป็นอธิปไตยไว้เพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียเอกราชอีกต่อไปและเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือและความมั่นคงร่วมกันกับประเทศลิทัวเนีย เอสโตเนีย กลุ่มประเทศนอร์ดิก โปแลนด์ และเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๙๒ ทั้ง ๓ ประเทศ บอลติกประกาศยกเลิกข้อจำกัดทางการค้าระหว่างกันและให้พลเมืองใช้หนังสือประทับตราเดินทางร่วมกัน ในปีเดียวกันเดนมาร์ก เยอรมนี และ ๓ สาธารณรัฐบอลติกก็ร่วมมือกันจัดตั้งสภาแห่งรัฐทะเลบอลติก (Council of the Baltic Sea States - CBSS) ขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen) สมาชิกประกอบด้วย เดนมาร์ก สวีเดน ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย โปแลนด์ เยอรมนี และสหพันธรัฐรัสเซียวัตถุประสงค์สำคัญคือการร่วมมือกันปกป้องสิ่งแวดล้อมและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างภูมิภาคเพื่อความมั่นคงร่วมกัน สภาแห่งรัฐทะเลบอลติกเป็นองค์การระหว่างประเทศองค์การแรกที่ลัตเวียมีความเสมอภาคเท่าเทียมประเทศต่าง ๆ และใน ค.ศ. ๑๙๙๗ ผู้แทนลัตเวียได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ ทั้ง ๓ รัฐบอลติกร่วมกันจัดตั้งหน่วยรักษาสันติภาพ (Peace-keeping Units) ขึ้นเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระหว่างประเทศ และความสำเร็จของการดำเนินงานได้นำไปสู่การจัดตั้งกองทัพบอลติก (Baltic Battalion) หรือที่เรียกว่า บอลต์แบต (BALTBAT) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๔ โดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษให้การสนับสนุน กองทัพบอลติกเป็นองค์การร่วมมือทางทหารเพื่อเสริมสร้างการป้องกันร่วมกันและเพื่อพัฒนากองทัพให้เข้มแข็งเพื่อเตรียมเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต(North Atlantic Treaty Organization NATO)* ซึ่งลัตเวียได้เข้าเป็นสมาชิกใน ค.ศ. ๒๐๐๓ ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๙๘ สหรัฐอเมริกาลงนามร่วมกับ ๓ สาธารณรัฐบอลติกสนับสนุนให้ทั้ง ๓ ประเทศเข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ
     นอกจากนี้ ลัตเวียซึ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้สำเร็จตามคำชี้แนะของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund - IMF)* ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้สินของประเทศและดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปรวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็เป็นประเทศแรกใน ๓ รัฐบอลติกที่ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(World Trade Organization - WTO)* ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๑ ลัตเวียยังพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งบริเวณพรมแดนกับเอสโตเนียและลิทัวเนียและสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States)* ให้มากขึ้น แต่ประเทศที่ลัตเวียมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าที่ใกล้ชิดมากกว่าประเทศอื่น ๆ คือ สวีเดนและเดนมาร์ก
     ตั้งแต่กลางทศวรรษ ๑๙๙๐ เป็นต้นมา ลัตเวียซึ่งปกครองด้วยรัฐบาลผสมมาโดยตลอดเริ่มมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงขึ้น พรรคการเมืองที่เคยมี มากกว่า ๓๔ พรรคเหลือไม่ถึง ๑๐ พรรค ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ไวรา วิค-เฟรย์เบียร์กา (Vaira Vike-Freiberga)

แห่งพรรคแนวทางลัตเวีย (Latvian Way Party) ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอดีตประเทศรัฐบริวารโซเวียตที่ได้ปกครองประเทศ และเป็น ๑ ในจำนวน ๔ คนของผู้หญิงยุโรปที่ได้เป็นผู้นำประเทศ วิค-เฟรย์เบียร์กาสานต่อนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาด้วยการพยายามผลักดันลัตเวียให้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union)* ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเพราะลัตเวียซึ่งเป็นสมาชิกสมทบ (Associate Member) สหภาพยุโรปมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๕ สามารถบรรลุความตกลงกับสหภาพยุโรปในสนธิสัญญาการเข้าร่วม (Accession Treaty) ในสหภาพยุโรป ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ ในการลงประชามติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๓ ประชาชนร้อยละ ๖๗.๕ ก็เห็นชอบที่จะเข้าร่วมสหภาพยุโรป อีก ๒ ปีต่อมาลัตเวียก็เข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของสหภาพยุโรปใน ค.ศ. ๒๐๐๕.



คำตั้ง
Latvia, Republic of
คำเทียบ
สาธารณรัฐลัตเวีย
คำสำคัญ
- ยูร์มาลา, เมือง
- สภาซาไอมา
- เยลต์ซิน, บอริส
- มอลเดเวีย
- สครุนดา, เมือง
- คณะกรรมาธิการปลดปล่อยแห่งชาติ
- ทาลลินน์, กรุง
- สายโซ่บอลติก
- เซลี, เผ่า
- เซมกาลี, เผ่า
- ลัตเกเล, ภูมิภาค
- เซมกาเล, ภูมิภาค
- วิลนีอุส, กรุง
- คูร์ซี, เผ่า
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- คูร์เซเม, ภูมิภาค
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล เซียร์เกเยวิช
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- เดากาวา, แม่น้ำ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- รัฐบริวารโซเวียต
- ลัตเวีย, สาธารณรัฐ
- เบรจเนฟ, เลโอนิด อิลยิช
- กลุ่มเฮลซิงกิ-๘๖
- เชียร์เนนโค, คอนสตันติน อุสตีโนวิช
- รัฐบอลติก
- นโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- คณะกรรมาธิการประชาชน
- เบียร์คลัฟส์, เอดูอาดส์
- ลัทธิการบูชาบุคคล
- สารของคอมมิวนิสต์ ๑๗ คน
- กลุ่มแนวร่วมลัตเวีย
- ขบวนการเอกราชชาติลัตเวีย
- วุลฟ์ซอน, มาฟริค
- พรรคกรีนลัตเวีย
- ลิโวเนีย
- ฟินน์, พวก
- คูร์ลันด์
- วิดเซเม, ภูมิภาค
- เลียปายา, เมือง
- ลิฟ, เผ่า
- กุสตาวุสที่ ๒ อดอลฟุส, พระเจ้า
- กลุ่มขุนนางเยอรมัน
- นีวา, แม่น้ำ
- แคเทอรีนที่ ๒, ซารีนา
- ชาลส์ที่ ๑๒, พระเจ้า
- บุกซ์เฮอร์เดิน, อัลเบรชท์ ฟอน, บิชอป
- เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, กรุง
- สงครามทะเลเหนืออันยิ่งใหญ่
- ปีเตอร์มหาราช, ซาร์
- สนธิสัญญานูสตัด
- ขบวนการอิตาลีหนุ่ม
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- อีวานที่ ๔ หรืออีวานผู้โหดร้าย, ซาร์
- คูร์ลันด์, ดัชชีแห่ง
- เดากัฟพิลส์, เมือง
- สันนิบาตฮันซา
- มัซซีนี, จูเซปเป
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- สงครามลิโวเนีย
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒, ซาร์
- นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซีย
- นิโคลัสที่ ๒, ซาร์
- คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม
- อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑, ซาร์
- สงครามนโปเลียน
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยลัตเวีย
- กงเปียญ, เมือง
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- พรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งภูมิภาคลัตเวีย
- เลนิน, วลาดีมีร์
- ลัตเวีย, สหภาพสังคมประชาธิปไตย
- สตอกโฮล์ม, กรุง
- สมาคมลัตเวียแห่งริกา
- พรรคบอลเชวิค
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย
- ลัทธิมากซ์
- ทรานส์คอเคเซีย
- สภาดูมา
- เหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด
- พรรคสหภาพชาวนา
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- สมาคมผู้อพยพลัตเวีย
- อุลมานิส, คาร์ลิส
- ลัตเวีย, สาธารณรัฐโซเวียต
- บอลติก, แกรนด์ดัชชี
- มหาอำนาจกลาง
- กองทัพบอลติก
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต
- พรรคภราดรภาพบอลติก
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- ทันเดอร์ครอสส์
- ชาคสเต, ยานิส
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- ไรค์, จักรวรรดิ
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- มาสเลนกี, เมือง
- คำประกาศซัมเนอร์
- ซาเอย์มา
- สันนิบาตชาติ
- กติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ
- สภาสัมพันธมิตรสูงสุด
- สตาลิน, โจเซฟ
- ยุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบ
- ริบเบนทรอพ, เคานต์โยอาคิม ฟอน
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียต
- ค่ายกักกันแรงงาน
- เวลส์, ซัมเนอร์
- ค่ายกักกัน
- สนธิสัญญาความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
- สภาแห่งรัฐทะเลบอลติก
- ครุชชอฟ, นีกีตา เซียร์เกเยวิช
- ครูมินส์, วิลิส
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- โคเปนเฮเกน, กรุง
- วิค-เฟรย์เบียร์กา, ไวรา
- เครือรัฐเอกราช
- สหประชาชาติ
- สนธิสัญญาการเข้าร่วม
- สหภาพยุโรป
- สนธิสัญญาใหม่แห่งสหภาพ
- องค์การการค้าโลก
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf